Sunday, June 15, 2014

ยังอยากมีลูก “เลี่ยงผ่าตัดรังไข่-มดลูกโดยไม่จำเป็น”



เนื่องด้วยเป็นหมอรักษาผู้มีบุตรยาก บ่อยครั้งที่ต้องรักษาคนไข้ที่มีลูกยากที่มีสาเหตุมาจากการผ่าตัดรังไข่-มดลูกโดยไม่จำเป็น เช่น มีถุงน้ำ(ซีสต์) ที่รังไข่ ซึ่งอาจจะเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดที่สามารถยุบหายไปได้เองก็ได้ หากตรวจติดตามต่อไปอีก 1-2 เดือน ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใดๆเลย หรือถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ แทนที่จะผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำที่รังไข่ออก แต่กลับถูกตัดรังไข่ทิ้งไปเลย จนต้องกลายเป็นคนมีลูกยาก เพราะเหลือรังไข่ที่จะผลิตไข่แค่ข้างเดียว น่าเศร้าแทนคนไข้มั้ยล่ะครับ


เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของทั้งแพทย์และคนไข้ถึงผลกระทบที่จะตามมาภายหลังจากการผ่าตัดที่ไม่เหมาะสม หรือไม่จำเป็น ทำให้บ่อยครั้งที่ผมมักจะเกิดอาการหวงแหนไข่และมดลูกของคนไข้เอามากๆ ถึงขั้นว่าไม่อยากจะแตะต้อง หรือผ่าตัดใดๆที่ทำให้ทั้งรังไข่และมดลูกได้รับบาดเจ็บ-เสียหายเลยถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็เพราะว่าทั้ง 2 ส่วนนี้มีบทบาทสำคัญต่อการมีลูกอย่างมาก เพราะ...

ถ้าเนื้อรังไข่เหลือน้อยลงโอกาสที่จะมีลูกก็น้อยลงตามไปด้วย เพราะรังไข่เป็นอวัยวะที่มีหน้าทีผลิตเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงที่เรียกว่า“ฟองไข่” นอกจากนั้นแล้วรังไข่ยังมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงทำให้ยังคงความเป็นสาวอีกด้วย ดังนั้นหากเนื้อรังไข่ที่ดีเหลือไม่มาก คนไข้ก็มีโอกาสที่จะเป็นวัยทองเร็วกว่าผู้หญิงทั่วไปที่มีรังไข่ปกติ 2 ข้าง


ส่วนมดลูกถ้าผ่าตัดโดยไม่จำเป็นก็ถือเป็นการสร้างบาดแผลให้กับมดลูก เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมา มดลูกจะขยายขนาดโตขึ้นเรื่อยๆตามขนาดของทารกในครรภ์ ทำให้แผลเป็นจากการผ่าตัดมดลูกที่เย็บไว้มีโอกาสปริ-แยกได้ และอาจร้ายแรงถึงขั้นมดลูกแตก ส่งผลให้เกิดอาการตกเลือดในช่องท้อง หรือถึงขั้นเสียชีวิตทั้งแม่และลูกได้เลยทีเดียว ยิ่งถ้าเย็บแผลที่มดลูกได้ไม่แน่นหรือไม่แข็งแรงพอด้วยแล้ว โอกาสที่มดลูกจะแตกระหว่างตั้งครรภ์ก็ยิ่งสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้นหากแม้ว่าจะตรวจพบเนื้องอกมดลูก แต่ถ้าเนื้องอกมดลูกนั้นไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป เพราะถ้าเนื้องอกมดลูกนั้นขนาดไม่ใหญ่มาก ไม่กดเบียดโพรงมดลูก หรือไม่มีอาการ ก็สามารถสังเกตอาการ และตรวจติดตามเป็นระยะไปก่อนได้ ผมแนะนำว่าควรรอให้มีลูกเรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยมาผ่าตัดรักษาในภายหลังได้ครับ


ดังนั้นหมอรักษามีบุตรยากอย่างผม ถ้าไม่จำเป็นจริงๆหรือถ้าเลี่ยงการผ่าตัดรังไข่และมดลูกได้ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงไว้ก่อนครับ ในกรณีที่คนไข้ยังต้องการที่จะมีลูกอยู่


แต่ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่ขึ้นมาจริงๆแล้วล่ะก้อ ก็จะแนะนำการผ่าตัดแบบส่องกล้องมาเป็นอันดับแรกครับ เพราะโอกาสเกิดพังผืดภายหลังการผ่าตัดนั้นพบได้น้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง อีกทั้งการผ่าตัดแบบส่องกล้องสามารถผ่าตัดได้ละเอียดมากกว่า เพราะกล้องสามารถขยายภาพให้เห็นชัดเจน จึงมีประโยชน์อย่างมากในการผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำรังไข่ออก เพราะสามารถเก็บรักษาเนื้อรังไข่ส่วนที่ดีไว้ให้คนไข้ได้มากขึ้น ไม่สูญเสียเนื้อรังไข่ที่ดีติดไปกับถุงน้ำที่ได้เลาะออกไปนั่นเองครับ


ผมขอฝากถึงทุกท่านที่กำลังมีปัญหาถุงน้ำรังไข่ เนื้องอกมดลูก ว่าถ้ายังต้องการมีบุตรอยู่ ขอให้พิจารณให้รอบคอบก่อนตัดสินใจผ่าตัด เพราะผลที่จะตามมานั้นมันแก้ไขลำบากมาก หากมีข้อสงสัย ผมแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางนี้โดยตรงจะเป็นการปลอดภัยกับรังไข่และมดลูกของตัวคุณเองมากที่สุด เพราะนอกจากจะวางแผนการรักษาเรื่องเนื้องอกมดลูก และถุงน้ำรังไข่ให้แล้ว ยังวางแผนรักษาเรื่องการมีบุตรในอนาคตให้ร่วมด้วยครับ ไม่ต้องกังวลใจอะไรมากนักเพราะอยู่ในการดูแลของหมอที่เข้าใจถึงความสำคัญ และหวงแหนอวัยวะ 2 ส่วนนี้มากกว่าใครก็ว่าได้ครับ



นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

2 comments:

  1. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete
  2. อยากจะรบกวนสอบทางคุณหมอค่ะหนูอายุ35ปียังมีลูกค่ะเมื่อต้นปีรุ้สึกว่าปจด.มาเป็นก้อนผิดปกติเลยไปพบหมอที่ตรวจพบซีสข้างขวา7ซม.ค่ะหมอแนะนำให้ผ่าแต่ไม่อยากผ่าคะคุณหมอให้กินยทคุมแค่1เดือนไปตรวจก็ไม่ยุบคะจนมาล่าสุดเดือนก.ยหมอตรวจอีกครั้งก๋ไม่ยุบคะแนพนำให้ผ่านัดผ่า6ตุลาค่ะ แต่ไม่อยากผ่าคะเพราะอากรไม่มีปวด
    รบกวนคุณหมอหน้อยค่ะว่าต้องผ่ามั้ย(ตอนแรกที่ตัดสินใจจะผ่าเพราะกลัวแตกแล้วอันตรายค่ะ)

    ReplyDelete