Sunday, April 6, 2014

ฝ่าวิกฤติตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก พร้อมรับมือท้องนอกมดลูก-ท้องลม-ตัวอ่อนเสียชีวิต




คุณผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตร และรอคอยเวลาที่จะมีลูกตัวน้อยๆมาเติมเต็มชีวิตคู่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีธรรมชาติหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว เมื่อประจำเดือนขาดหายไปคงต้องรู้สึกตื่นเต้นและแอบลุ้นอยู่ในใจ แล้วยิ่งเมื่อทดสอบการตั้งครรภ์จากปัสสาวะหรือตรวจเลือดยืนยันแล้วพบว่าท้องขึ้นมาจริงๆ แทบทุกคนต้องดีใจเป็นที่สุดอย่างแน่นอน แต่อย่าเพิ่งด่วนดีใจไปครับ เพราะนี่เป็นเพียงแค่ก้าวแรกของการตั้งครรภ์เท่านั้น ยังมีเหตุการณ์ต่างๆที่ไม่คาดคิดอีกมากมายเกิดขึ้นได้เสมอโดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอเพื่อประเมินว่าการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นนั้นปลอดภัยหรือไม่ และควรดูแลตัวเองและสังเกตอาการผิดปกติอย่างไรบ้าง ซึ่งพอจะไล่เลียงถึงลำดับขั้นตอนการเฝ้าติดตามให้เข้าใจง่ายๆได้ดังนี้

ช่วงอายุครรภ์ 4-5 สัปดาห์ นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

ภายหลังจากที่ประจำเดือนขาดหายไปประมาณ 1 สัปดาห์หรือประมาณ 12-14 วัน ภายหลังจากการย้ายตัวอ่อนในกรณีทำเด็กหลอดแก้ว หากตรวจการตั้งครรภ์โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับฮอร์โมน hCG ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรก แล้วพบว่าฮอร์โมน hCG มีระดับที่สูงขึ้น สามารถบ่งบอกได้ว่าคุณผู้หญิงมีภาวะตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยเราเรียกการตั้งครรภ์ระยะนี้ว่า Chemical pregnancy หรือการตั้งครรภ์ที่วินิจฉัยจากผลแล็ป ระยะนี้คุณผู้หญิงอาจมีอาการคัดตึงเต้านม บางรายเริ่มเบื่ออาหาร ส่วนอาการแพ้ท้องอาจยังไม่ชัดเจนนักเพราะระดับฮอร์โมน hCG ที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ท้องนั้นยังอยู่ในระดับที่ยังไม่สูงมากนัก การอัลตร้าซาวน์ในระยะนี้อาจยังไม่สามารถเห็นถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกได้ชัดเจนนัก ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่สามารถอัลตร้าซาวน์เห็นถุงการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูก ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นท้องนอกมดลูกได้อยู่ จึงจำเป็นต้องมีการนัดตรวจติดตามอัลตร้าซาวน์อีกครั้งประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากนี้ ระยะนี้คุณผู้หญิงควรต้องดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี พักผ่อนให้เพียงพอ งดยืน-เดินนานๆ หลีกเลี่ยงยกของหนัก การออกกำลังกายหักโหม รับประทานอาหารที่ใหม่-สด-สะอาดเพื่อป้องกันอาการท้องเสีย และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ตลอดจนเฝ้าสังเกตอาการปวดหน่วงท้องน้อย เลือดออกทางช่องคลอดหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ซึ่งเป็นอาการผิดปกติของภาวะแท้งบุตร หรือท้องนอกมดลูกได้ครับ

การตั้งครรภ์นอกมดลูก คือ การตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตอยู่ที่อื่นภายนอกโพรงมดลูก เช่น ที่ท่อนำไข่ ที่รังไข่  ที่เยื่อบุช่องท้อง เป็นต้นครับ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่มีกล้ามเนื่อน้อย บอบบาง ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ จึงก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วตัวอ่อนจะเจริญเติบได้ไม่เกินอายุครรภ์ 3 เดือน ถุงการตั้งครรภ์ก็มักจะแตกหรือแท้ง ทำให้ตกเลือดในช่องท้องเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าอาจจะมีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจมีอาการผิดปกติ ได้แก่ เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อยรุนแรง วิงเวียนศีรษะเป็นลม ซึ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจภายในและทำอัลตร้าซาวน์ ถ้าอัลตร้าซาวน์ไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก แต่กลับพบก้อนผิดปกติหรือเห็นถุงการตั้งครรภ์ภายนอกโพรงมดลูก ก็สามารถวินิจฉัยว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์นอกมดลูกนั้นจะไม่สามารถดำเนินต่อไปจนสำเร็จคลอดออกมาเป็นทารก จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ด้วยการผ่าตัดเอาออกก่อนที่จะแตกหรือก็ต้องใช้ยาทำลายให้ฝ่อสลายหายไปเพื่อความปลอดภัยของหญิงตั้งครรภ์ครับ  (สามารถหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการตั้งครรภ์นอกมดลูก จากบทความ ” ไขปัญหา สายน้ำผึ้ง คุณหมอเช้าตรู่คะ หนูท้องนอกมดลูกจริงๆเหรอ” ได้จากบทความก่อนหน้านี้ครับ)
   


                  
                       
ภาพอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอด พบถุงการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูก 


ช่วงอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์ นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

2-3 สัปดาห์ภายหลังจากตรวจเลือดหรือปัสสาวะพบว่าตั้งครรภ์แล้ว จะมีการนัดตรวจอัลตร้าซาวน์อีกครั้งเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติในโพรงมดลูกหรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากช่วงอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์จะสามารถอัลตร้าซาวน์พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกได้ชัดเจนแล้ว หากยังไม่พบควรได้รับการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดในภายหลังอีก 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากมีโอกาสเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ ในระยะนี้คุณผู้หญิงยังคงต้องดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดีตลอดจนเฝ้าสังเกตอาการปวดหน่วงท้องน้อย เลือดออกทางช่องคลอด หน้ามืด วิงเวียนศีรษะดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในกรณีที่อัลตร้าซาวน์พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกแล้วก็ยังไม่ปลอดภัยเสมอไปครับ แม้ว่าโอกาสที่จะเป็นท้องนอกมดลูกนั้นจะมีน้อย แต่เพราะช่วงอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์เราควรที่จะอัลตร้าซาวน์พบตัวอ่อนและการเต้นของหัวใจภายในถุงการตั้งครรภ์ ดังนั้นตราบใดก็ตามที่ยังไม่พบตัวอ่อนหรือการเต้นของหัวใจก็ถือว่ายังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีโอกาสที่จะเกิดภาวะท้องลม หรือ การตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อน (Blighted ovum) เกิดขึ้นได้ สาเหตุของภาวะท้องลมนั้นส่วนใหญ่เป็นเพราะตัวอ่อนมีความผิดปกติภายหลังจากที่ไข่กับอสุจิมีการผสมกันแล้วก็จะมีพัฒนากลายเป็นตัวอ่อน หากตัวอ่อนนั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านโครโมโซม  ตัวอ่อนจะหยุดการเจริญเติบโต และ ฝ่อหายไปในที่สุด เหลือเพียงส่วนของถุงน้ำคร่ำและรกที่สามารถเจริญพัฒนาต่อได้ จึงพบถุงการตั้งครรภ์ที่ว่างเปล่า ไม่มีตัวอ่อน สาเหตุที่ตัวอ่อนมีความผิดปกตินั้นอาจมีสาเหตุมาคุณภาพของไข่ที่ไม่สมบูรณ์ จากอายุของมารดาที่มากขึ้น หรือ จากสุขภาพมารดาที่ไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวที่ยังไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ก็เป็นได้ครับ โดยอาการของผู้ที่มีภาวะท้องลมนั้นจะใกล้เคียงกับหญิงตั้งครรภ์ปกติ แต่อาการแพ้ท้อง คัดตึงเต้านม หรือผลฮอร์โมน hCG จากรก ส่วนใหญ่แล้วมักจะน้อยกว่าการตั้งครรภ์ปกติทั่วไป 

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่มีตัวอ่อน จากการตรวจอัลตร้าซาวน์

ขนาดของถุงการตั้งครรภ์ มากกว่า 10 มิลลิเมตรจากการตรวจอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอด หรือมากกว่า 20 มิลลิเมตรจากการตรวจทางหน้าท้องแต่ยังไม่พบถุงไข่แดง 

ขนาดของถุงการตั้งครรภ์ มากกว่า 18 มิลลิเมตรจากการตรวจอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอด หรือมากกว่า 25 มิลลิเมตรจากการตรวจทางหน้าท้องแต่ยังไม่พบตัวอ่อน 

ในกรณีที่ผลการตรวจก้ำกึ่งดังที่กล่าวมานี้หรือภาพไม่ชัดเจนควรทำการตรวจติดตามอีกครั้ง เนื่องจากมีโอกาสเป็นครรภ์ปกติได้อยู่ และเมื่อพบลักษณะที่เข้าได้ตามเกณฑ์การวินิจฉัยหรือพบว่าเมื่อผ่านไป 1-2 สัปดาห์ แล้วไม่พบการเจริญเติบโตของถุงการตั้งครรภ์ก็สามารถสรุปได้ว่าเป็น ท้องลม (Blighted ovum) ได้แล้วครับ

     

ภาพอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอดไม่พบตัวอ่อนในถุงการตั้งครรภ์


     

ภาพอัลตร้าซาวน์ทางช่องคลอดพบตัวอ่อนในถุงการตั้งครรภ์

ในขณะที่ตรวจอัลตร้าซาวน์พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกร่วมกับเห็นตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อตรวจติดตามต่อไปกลับพบว่าตัวอ่อนมีขนาดเล็กลง หรือบางกรณีที่เคยตรวจเห็นการเต้นของหัวใจแล้วแต่เมื่อตรวจติดตามในภายหลังกลับไม่พบ ลักษณะเช่นนี้อาจสงสัยได้ว่าเกิดภาวะตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์  ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตหรือหยุดการเจริญเติบโตนั้นคล้ายคลึงกับการเกิดภาวะท้องลมครับ

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะตัวอ่อนเสียชีวิตในครรภ์ระยะแรก (Early embryonic death) 

ในกรณีที่อัลตร้าซาวน์เห็นตัวอ่อนชัดเจนแล้วแต่ไม่เห็นเต้นหัวใจสามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าตัวอ่อนเสียชีวิตแล้ว

สำหรับตัวอ่อนขนาดเล็กมากหากตรวจไม่พบการเต้นของหัวใจ เมื่อขนาดของตัวอ่อนยาว มากกว่า 5 มิลลิเมตร จากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 9 มิลลิเมตร จากการตรวจทางหน้าท้อง

ในกรณีที่ผู้ตรวจไม่แน่ใจว่าที่เห็นใช่ตัวอ่อนหรือไม่ให้ทำการตรวจซ้ำในอีก 1 สัปดาห์ ถ้ายังพบลักษณะเช่นเดิมก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าตัวอ่อนเสียชีวิตแล้วได้เช่นกันครับ

ภาวะท้องลมและภาวะตัวอ่อนหรือทารกตายในครรภ์ระยะแรกนั้น ถือเป็นของการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปจนสำเร็จได้ คุณแม่ที่มีภาวะเช่นนี้ส่วนมากจะมีเลือดออกและแท้งออกมาได้เอง หรือถ้าไม่มีก็จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการทางการแพทย์ในที่สุด


ช่วงอายุครรภ์ 10-14 สัปดาห์ นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

ภายหลังจากที่ตรวจอัลตร้าซาวน์พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกร่วมกับพบตัวอ่อนและการเต้นของหัวใจเรียบร้อยแล้วในช่วงอายุครรภ์ 6-8 สัปดาห์ แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการทุก 2-4 สัปดาห์ จนกระทั่ง 12-14 สัปดาห์ ช่วงระยะนี้คุณผู้หญิงต้องหมั่นคอยดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ใช้ยาเท่าที่จำเป็น เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์นั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากในการเจริญพัฒนาอวัยวะของทารกครบทุกส่วน หากได้รับสารเคมี ยาอันตราย หรือแม้กระทั่งสุขภาพมารดาที่ไม่สมบูรณ์ก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารกได้และยังพบว่าโอกาสเกิดภาวะแท้งบุตรพบได้สูงที่สุดในช่วงนี้อีกด้วย  แต่หากเมื่อผ่านพ้นช่วง 3 เดือนแรกนี้ไปได้ โอกาสแท้งบุตรก็จะลดน้อยลงไปมาก คุณผูหญิงก็สามารถเริ่มฝากครรภ์ตามปกติได้แล้วครับ

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มมีการขาดหายไปของประจำเดือน จนกระทั่งตรวจพบว่าตั้งครรภ์ มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆเกิดขึ้นได้มากมายในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นคุณผู้หญิงทั้งหลายอย่าเพิ่งด่วนดีใจจนลืมดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง และคอยสังเกตอาการผิดปกติต่างๆที่บ่งบอกถึงภาวะอันตรายที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะภาวะแท้ง และตั้งครรภ์นอกมดลูก อีกทั้งต้องติดตามการรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินภาวะท้องลมและภาวะตัวอ่อนตายในครรภ์ระยะแรก เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณผู้หญิงเองตลอดจนความสมบูรณ์ของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วยครับ

  

นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

No comments:

Post a Comment