Wednesday, April 16, 2014

"ไก่กับไข่" ความพิเศษของครรภ์แฝด ที่มาพร้อมความเสี่ยง




มีใครเห็นด้วยกับผมบ้างมั้ยครับว่า ในละคร อย่าลืมฉัน  “แฝดไก่กับไข่” เป็นเด็กฝาแฝดที่น่ารัก น่าหยิกแก้มซะจริงๆ เห็นแล้วหมั่นเขี้ยว แพ้ทางความน่ารักและความไร้เดียงสาของเด็ก คงเป็นเพราะเหตุผลนี้มั้งครับถึงทำให้ชีวิตผมทุกวันนี้ถึงต้องกลายมาเป็นพ่อบุญธรรมให้กับเด็กๆในสังกัดของครอบครัวมีบุตรยากหลายๆครอบครัว และนับวันผมชักจะมีเด็กๆในสังกัดเยอะขึ้นเรื่อยๆแล้วสิครับทีเนี้ยะ!!



คงเป็นเพราะความน่ารักและดูพิเศษกว่าเด็กปกติทั่วๆไปของเด็กแฝดที่เป็นเด็กน้อยน่ารักและมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันมากกว่า 1 คน จึงเป็นความใฝ่ฝันของหลายๆครอบครัวที่อยากจะมีลูกแฝดและเข้ามาขอคำปรึกษาแนะนำที่คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า แม้ว่าการตั้งครรภ์แฝดจากกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าการตั้งครรภ์แฝดปกติตามธรรมชาติ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเด็กแฝดที่ถือกำเนิดมาจากการทำเด็กหลอดแก้วนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็น “แฝดเทียม” คือ มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน อาจดูคล้ายกัน เพศอาจจะเหมือนหรือต่างกันเลยก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญคือ มี DNA ที่แตกต่างกัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเป็น “แฝดแท้” หรือแฝดเหมือน คือ มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน และมี DNA เหมือนกันทุกอย่าง ซึ่งสาเหตุเกิดจากอะไรนั้น จะขออธิบายต่อไปครับ


จุดกำเนิดของแฝดแท้และแฝดเทียมนั้นมีที่มาแตกต่างกัน โดยที่



แฝดแท้ (Monozygotic twins หรือ Identical twins)  ถือกำเนิดจาก ไข่ 1 ใบ ผสมกับ ตัวอสุจิ 1 ตัว กลายเป็นตัวอ่อน 1 ตัว แต่ภายหลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว ตัวอ่อนกลับเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่า 1 จึงได้เป็นตัวอ่อนอีกตัวที่มีต้นกำเนิดเดียวกัน ดังนั้นแฝดแท้จึงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน และมี DNAเหมือนกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แฝด 1 แฝด 2 แฝด 3 หรือมากกว่านี้ก็ตาม 



แฝดเทียม (Dizygotic twins หรือ Fraternal twins)   ถือกำเนิดจากมี  ไข่มากกว่า 1 ใบ ผสมกับ ตัวอสุจิ จึงทำให้มีตัวอ่อนเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตัว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบังเอิญในรอบเดือนนั้นฝ่ายหญิงมีการตกไข่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ใบ จึงทำให้มีไข่ที่ได้รับการผสมกับตัวอสุจิมากกว่า 1 ใบ จึงเกิดเป็นตัวอ่อนหลายตัว จึงถือได้ว่าตัวอ่อนแต่ละตัวมีต้นกำเนิดแตกต่างกัน ดังนั้นแฝดเทียมจึงมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน อาจดูคล้ายกัน เพศอาจจะเหมือนหรือต่างกันเลยก็เป็นได้ แต่ที่สำคัญคือ มี DNA แตกต่างกัน การตั้งครรภ์แฝดเทียมนั้นสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติทางครอบครัวฝ่ายหญิง หากพบว่าฝ่ายหญิงมีประวัติการตั้งครรภ์แฝดเทียมในบรรดาเครือญาติ โอกาสที่หญิงนั้นจะตั้งครรภ์แฝดเทียมจะมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับหญิงทั่วไป 

ส่วนสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดเทียมนั่นก็คือ กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว เพราะในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกนั้น หากทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปมากกว่า 1 ตัว ก็เป็นไปได้ว่าตัวอ่อนทุกตัวที่ย้ายเข้าไปมีโอกาสฝังตัวและเจริญเติบโตต่อเป็นฝาแฝดที่มีต้นกำเนิดแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หากย้ายตัวอ่อน 2 ตัว สามารถได้เด็กทารก 2 คน ที่หน้าตาคล้ายกัน เพศอาจจะเหมือนหรือต่างกันก็ได้ 


หน้าตา : แตกต่างกัน
DNA    : แตกต่างกัน
         เพศ      : อาจเหมือนกันได้
   หน้าตา : เหมือนกัน    
DNA    : เหมือนกัน
เพศ      : เหมือนกัน


แต่ก็มีบางกรณีที่ทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไป 2 ตัว แต่สุดท้ายแล้วกลับได้เป็นเด็กทารกมากกว่า 2 คน ซึ่งอาจเกิดจากตัวอ่อนตัวใดตัวหนึ่งมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาในภายหลัง กลายเป็นว่ามีทั้งแฝดแท้และแฝดเทียมในคราวเดียวกัน หรือบางกรณีอาจเกิดจากการที่มีแค่ตัวอ่อนเพียงตัวเดียวที่ฝังตัวได้จากตัวอ่อนทั้งหมด 2 ตัวที่ย้ายกลับเข้าไป แล้วตัวอ่อนที่ฝังตัวได้นั้นเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเป็นแฝดแท้ 3 ตัวก็เป็นได้ ซึ่งการจะสรุปว่าเป็นฝาแฝดแบบไหนนั้นอาจต้องอาศัยประวัติ การทำอัลตร้าซาวน์ช่วงฝากครรภ์ จำนวนถุงน้ำคร่ำ จำนวนรก ตลอดจนหน้าตาและเพศของเด็กทารกเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยว่าเป็นฝาแฝดชนิดใดในภายหลัง



ดังนั้นกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว ในขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ใช่ว่าจะทำให้เกิดเด็กแฝดเสมอไป ขึ้นกับว่าตัวอ่อนทุกตัวที่ย้ายกลับเข้าไปสามารถฝังตัวและเจริญเติบโตต่อได้ครบทุกตัวหรือไม่
และแม้ว่าหากเกิดการตั้งครรภ์ที่มีทารกมากกว่า 1 เกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นอีกว่าจะเป็นแฝดแท้ที่หน้าตาเหมือนกันและเพศเดียวกันเสมอไป

  



ทางการแพทย์ถือว่าการตั้งครรภ์แฝดเป็นภาวะแทรกซ้อนหรือมีความเสี่ยงสูงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งมารดาและทารกในครรภ์



          • ผลกระทบต่อมารดา เช่น มีอาการแพ้ท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง ท้องแตกลาย ปวดหลัง รกเกาะต่ำ ครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน คลอดก่อนกำหนด  มดลูกแตก ตลอดจนมีโอกาสผ่าตัดคลอดสูงขึ้น



          • ผลกระทบต่อทารก เช่น ทารกคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตอาจชักนำให้สุขภาพของทารกอีกคนแย่ลงหรือแท้งตามไปด้วย ภาวะแย่งสารอาหารกันทำให้เจริญเติบโตไม่เท่ากัน  ภาวะน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย และปัญหาต่างๆที่จะตามมาจากคลอดก่อนกำหนด เช่น ปอดไม่แข็งแรง ติดเชื้อง่าย ต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก



การตั้งครรภ์ “แฝดแท้” ถือได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่อสุขภาพทารกในครรภ์ได้มากกว่าการตั้งครรภ์ “แฝดเทียม” จากที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้นที่ว่าการตั้งครรภ์ “แฝดแท้” นั้นเกิดจากการที่ตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมามากกว่า 1 ภายหลังจากที่ตัวอ่อนได้ฝังตัวในโพรงมดลูกเรียบร้อยแล้ว หากการแบ่งตัวนั้นเกิดขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว ตัวอ่อนก็สามารถแบ่งตัวแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ มีถุงน้ำคร่ำเป็นตัวแยกให้ตัวอ่อนแต่ละตัวแยกออกจากกันโดยอยู่ในถุงน้ำคร่ำคนละถุง โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์จึงเกิดขึ้นได้น้อย แต่หากตัวอ่อนเกิดการแบ่งตัวล่าช้า แม้ว่าตัวอ่อนจะสามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็อาจต้องมาอาศัยอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำถุงเดียว ซึ่งโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสายสะดือพันกัน อาจก่อให้เกิดปัญหาทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ หรือในกรณีที่การแบ่งตัวเกิดขึ้นล่าช้าจนเกินไปทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ จึงมีร่างกายบางส่วนติดกัน ที่เรียกว่า แฝดสยามอิน-จัน (Conjoined twin) อย่างที่เราๆเคยได้ยินกันนั่นเองครับ










การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการทำเด็กหลอดแก้วนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ปลอดภัยทั้งมารดาและทารก ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดเหมือนที่หลายๆท่านเข้าใจผิดแต่อย่างใด เพราะการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการทำเด็กหลอดแก้วที่ส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นแล้วการตั้งครรภ์ที่มีทารกเพียงคนเดียว จึงมีความปลอดภัยมากกว่าเพราะสามารถดูแลเอาใจใส่ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนปัญหาความเสี่ยงต่างๆตลอดช่วงการตั้งครรภ์ก็น้อยกว่าการตั้งครรภ์แฝด ผมจึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนทัศนะคติเกี่ยวกับการมีลูกแฝดว่า อย่ามองแต่เพียงความน่ารักของเด็กแฝดแล้วเกิดความคิดที่อยากจะมีลูกแฝดเหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัย ความสมบูรณ์ของทารก ตลอดจนสุขภาพของมารดาและลูกน้อยในครรภ์มาเป็นอันดับแรก เพราะแม้จะมีหลายครอบครัวที่โชคดีมากๆที่สามารถผ่านความเสี่ยงต่างๆมากมายตลอดช่วงการตั้งครรภ์แฝดมาได้ แต่ก็มีครอบครัวอีกไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความผิดหวังจากการสูญเสียทารกในครรภ์ไปจากการตั้งครรภ์แฝดเช่นกันครับ






นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

No comments:

Post a Comment