Tuesday, May 27, 2014

จดหมายตอบกลับจากคุณกะรัต “ ทำไมไม่ท้องซะที เหมือนคุณหนูเล็กคะ ??? ”



แม้ว่าผมจะเคยช่วยแนะนำคุณกะรัตนับวันตกไข่ไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง “จดหมายถึงคุณกะรัต คาดคะเนวันตกไข่ฉบับหมอเช้าตรู่” ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีทั้งคำแนะนำ ติชม ตลอดจนฝากคำถามกันเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่ละครได้อวสานไปได้ 2 เดือนกว่าๆ คุณกะรัตก็ยังไม่มีข่าวดีเสียที ผิดกับคุณหนูเล็ก ที่คุณเขมชาติ ไม่รู้มีเทคนิคดีๆอะไรถึงได้สำเร็จในครั้งแรกครั้งเดียว จนตอนนี้คุณหนูเล็กมีอาการแพ้ท้อง ซึ่งผมได้ให้คำแนะนำไปในบทความเรื่องล่าสุด เรื่อง “สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง” ตอนที่ 1 และ ตอนจบ


มีหลายท่านสงสัยว่าทั้งๆที่คิดว่าคาดคะเนวันตกไข่ได้แม่นยำและน่าเชื่อถือมากพอสมควรแล้ว เหตุใดถึงไม่สำเร็จเสียที ผมขออธิบายดังนี้นะครับ ว่าวิธีต่างๆที่เราพยายามคาดคะเนวันตกไข่ให้ได้แม่นยำนั้นก็เพื่อที่จะทำให้ไข่และอสุจิมีโอกาสเจอกันมากที่สุด ง่ายๆก็คือ เรานัดเดทให้ไข่กับอสุจิ ส่วนภายหลังจากนั้นเค้าจะผสมกันได้หรือไม่ หรือผสมกันได้แล้วจะฝังตัวได้หรือไม่นั้น เราไม่สามารถทราบได้ และควบคุมไม่ได้ด้วยครับ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติไปแล้ว เราทำอะไรไม่ได้  ซึ่งโอกาสสำเร็จในแต่ละรอบประจำเดือนนั้นจะลดลงตามอายุฝ่ายหญิงที่เพิ่มขึ้นดังนี้ครับ

  • อายุ 20-25 โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 25%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน 4-5 รอบจึงจะสำเร็จ
  • อายุ 25-30 โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 20%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน 5-6 รอบจึงจะสำเร็จ
  • อายุ 30-35 โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 15%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน  9  รอบจึงจะสำเร็จ
  • อายุ > 35  โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 10%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน  1  ปีจึงจะสำเร็จ


Monday, May 19, 2014

สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง [ตอนจบ]



บทความก่อนหน้านี้ สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง ตอนที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้ท้องไปแล้ว บทความนี้ข้อเสนอ วิธีง่ายๆช่วยลดอาการแพ้ท้อง

วิธีง่ายๆช่วยลดอาการแพ้ท้อง

ระหว่างตั้งครรภ์  ฮอร์โมนที่สูงขึ้นมีผลทำให้ระบบทางเดินอาหาร สำไส้เคลื่อนไหวช้าลง  ดังนั้นอาหารที่ย่อยยากจะเหลือค้างในกระเพาะอาหารได้นานกว่าปกติ อาจมีอาการท้องผูกหรืออาการอืดแน่นท้องได้ง่าย  บางทีรับประทานอาหารไปได้พักเดียวก็รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนออกมาหมด  ผมได้รวบรวมคำแนะนำทั้งจากตำราและประสบการณ์ตรงจากคนไข้ ซึ่งเป็นวิธีการดูแลตัวเองอย่างง่ายๆเพื่อให้พ้นช่วงเวลาที่มีอาการแพ้ท้องนี้ไปให้ได้ยังไงล่ะครับ

เริ่มตั้งแต่หลังตื่นนอน ไม่ควรรีบลุกออกจากเตียง เพราะการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงท่าทางอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลทำให้วิงเวียนและอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ ควรนอนพักสัก 5-10 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยๆลุกออกจากเตียง บางท่านแนะนำว่านอนเล่นเคี้ยวขนมปังชิ้นเล็กๆ ก่อนลุกจากที่นอนก็ช่วยลดอาการคลื่นไส้จากภาวะท้องว่างได้ดีไม่น้อยเลยนะครับ

พยายามหาอะไรทานเบาๆ ก่อนนอน เช่น ขนมปังหรือแซนด์วิช จะช่วยป้องกันอาการแพ้ท้องในเช้าวันรุ่งขึ้นได้ เนื่องจากลดโอกาสเกิดท้องว่างซึ่งมักจะกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายครับ

รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกของมัน ของทอด เนื้อสัตว์ใหญ่ เพราะย่อยยากจึงเหลือค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน ทำให้อืดแน่นท้องและกระตุ้นให้คลื่นไส้ได้

ยังไม่ควรรีบบำรุงมากจนเกินไป ควรให้พ้นช่วง 3 เดือนไปก่อนครับ เพราะช่วงนี้ทารกในครรภ์ขนาดเล็กนิดเดียว ยังไม่ต้องการสารอาหารจากมารดามากเท่าใดนัก แนะนำว่ารับประทานเท่าที่รับประทานได้ ไม่ต้องฝืนบำรุงครับ

จิบน้ำหวาน น้ำอัดลมช่วยทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่าได้ครับ เพราะมีน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานงานและสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้พลังงานได้ทันที

น้ำผลไม้ หรือ ผลไม้รสเปรี้ยว ช่วยแก้เลี่ยนได้ ไม่ว่าจะเป็น บ๊วย มะยม มะนาว มะม่วง ได้หมดเลยครับ

ดื่มน้ำขิงอุ่นๆ ดมกลิ่นไอระเหยจะช่วยผ่อนคลาย และบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ไม่เลวเลยครับ

ไม่ควรดื่มน้ำทีละมากๆ หรือดื่มบ่อยๆระหว่างรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้อิ่มเร็ว แน่นท้องและกระตุ้นให้อาเจียนได้ง่าย

น้ำเกลือแร่ ORS ที่เราดื่มๆกันในยามที่ท้องเสีย สามารถช่วยป้องกันภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ จากสูญเสียเกลือแร่จากการอาเจียนบ่อยๆ แนะนำว่าสามารถจิบได้ตลอดทั้งวันครับ

บ้วนปาก แล้วดื่มน้ำอุ่นๆตามหลังอาเจียน เพราะเป็นการช่วยล้างช่องปากและลำคอ ทำให้กลิ่นอาเจียนเบาบางลง ช่วยทำให้ไม่อยากอาเจียนมากขึ้นครับ

ให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ 5-6 มื้อ/วัน ไม่ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อใหญ่ๆ เพราะจะทำให้รู้สึกแน่นท้อง คลื่นไส้ตามมาได้

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเครื่องเทศกลิ่นฉุน หรืออาหารกลิ่นคาว เช่น แกงกะหรี่ เนื้อปลา แนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกข้าวต้ม  ซึ่งควรเป็นข้าวต้มขาวเปล่า ๆ กับไข่เค็ม  หมูหยอง  จะดีกว่าข้าวต้มปลา  ข้าวต้มหมู  ที่มักมีกลิ่นคาวยิ่งกระตุ้นให้อยากอาเจียน

หลีกเลี่ยงการนอนภายหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ควรเดินย่อยสักพักประมาณครึ่งชั่วโมง เพราะช่วงตั้งครรภ์ หูรูดส่วนบนของกระเพาะอาหารมักคลายตัวลง  อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ง่ายขึ้น  จึงมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อน กระตุ้นให้อาเจียนได้ง่ายขึ้นครับ

รับประทานอาหารปรุงเสร็จใหม่ๆที่ยังอุ่น ๆ จะทำให้รู้สึกว่ามีรสชาติดีกว่าอาหารที่เย็นชืดแล้ว ช่วยให้รับประทานได้มากขึ้น กว่าปกติ

อาหารแห้งๆมีโอกาสกระตุ้นให้อาเจียนได้น้อยกว่าอาหารที่เป็นน้ำ เช่น ขนมจำพวกแครกเกอร์ ขนมปังกรอบแห้งๆ

ยาบำรุงโลหิตหรือธาตุเหล็ก อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้อาการแพ้ท้องอาจแย่ลงได้ ดังนั้นควรรอให้พ้นช่วงแพ้ท้องไปก่อนดีกว่าครับ ส่วนยาบำรุงเลือดโฟลิค สามารถรับประทานไดเพราะไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

รับประทานวิตามินบี 6 ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 2 เม็ด มีส่วนช่วยทำให้อาการแพ้ท้องดีขึ้นครับ

หากมีอาการแพ้ท้องมาก สามารถใช้ยาแก้อาเจียนชื่อ Dramamine ร่วมด้วยได้ครับ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เพราะเป็นยาที่ใช้กันมานาน และยังไม่พบว่ามีผลต่อทารกในครรภ์ แนะนำว่าควรรับประทานยา 2 ชั่วโมงก่อนมีอาการแพ้ท้องเพราะจะได้ไม่อาเจียนเอายาที่รับประทานเข้าไปออกมา ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ซึ่งปกติแล้วคนที่มีอาการแพ้ท้องจะทราบเวลาที่ตัวเองมักมีอาการบ่อยๆอยู่แล้วครับ

พยายามผ่อนคลาย ไม่ควรวิตกกังวลหรือเครียดมากจนเกินไป เพราะความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง อาจนอนฟังเพลงเบาๆ  อ่านหนังสือ จัดดอกไม้เพลิน ๆ ก็ช่วยผ่อนคลายได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

พยายามหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา อย่าทำตัวให้ว่าง เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเรื่องอาเจียนบ้าง

ความรัก ความเข้าใจ และการดูแลเอาใจใส่จากสามี และสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นกำลังใจที่ดีที่สามารถประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาที่แสนจะทรมานนี้ไปได้อย่างราบรื่นได้ครับ

นอกจากจะลองทำตามแนะนำวิธีง่ายๆเบื้องต้นที่ได้แนะนำกันไปแล้ว ก็อย่าลืมเฝ้าสังเกตอาการเพื่อเฝ้าระวังภาวะผิดปกติทางร่างกายด้วยนะครับ โดยเฉพาะ ภาวะร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากเราชดเชยน้ำไม่เพียงพอกับที่ร่างกายสูญเสียไปจากการอาเจียน ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์หากมีอาการแพ้ท้องมาก รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ น้ำหนักลด คุณแม่อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าลูกจะได้รับอันตรายร้ายแรงนะครับ ขอแค่คุณแม่ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำเป็นพอ เพราะทารกในครรภ์ช่วงนี้ยังไม่ได้ต้องการสารอาหารอะไรจากมารดามากเป็นพิเศษ ขอแค่มารดายังคงมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรง ไม่มีภาวะขาดน้ำเท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับ รอให้อาการแพ้ท้องดีขึ้นเสียก่อนค่อยเริ่มบำรุงกันใหม่ วิธีการง่ายๆในการสังเกตดูว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่ เช่น สังเกตดูว่าริมฝีปากและลิ้นแห้งหรือไม่ การปัสสาวะเป็นอย่างไร หากปัสสาวะนานๆครั้ง ปัสสาวะออกครั้งละน้อยๆ และมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าน้ำในร่างกายไม่เพียงพอ เราควรจิบน้ำให้บ่อยขึ้นแล้วสังเกตต่อไปว่า อาการต่างๆดีขึ้นหรือไม่ ปัสสาวะออกมากขึ้นและสีจางลงหรือยัง หากรับประทานอะไรไม่ได้เลยหรือถ้าลองจิบน้ำแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นแนะนำว่าควรไปพบแพทย์จะดีที่สุดครับ เพราะจะได้ให้น้ำเกลือชดเชยน้ำที่สูญเสียไปเพื่อป้องกันภาวะไตทำงานผิดปกติครับ

มาถึงตอนนี้หวังว่าคุณผู้อ่านทุกท่านคงพอเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการแพ้ท้องของหญิงตั้งครรภ์ได้มากขึ้น เพราะแม้จะมีผลจากฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุหลัก แต่ความเครียด ความวิตกกังวล และสภาพจิตใจก็มีผลไม่น้อยที่จะทำให้อาการนั้นรุนแรงมากขึ้น หวังว่าวิธีการรับมือกับอาการแพ้ท้องอย่างง่ายๆที่ผมได้แนะนำไป คงจะพอช่วยทำให้คุณแม่ทั้งมือเก่า มือใหม่ รวมทั้งคุณหนูเล็ก ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ สามารถนำไปปรับใช้และผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างราบรื่น ปลอดภัยทั้งแม่และลูก สุดท้ายคงต้องขอบคุณละครไทยด้วยเช่นกันที่นอกจากจะนำเสนอความบันเทิงอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังสอดแทรกชีวิตจริงของสังคมลงไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งประเด็นเรื่องของสุขภาพ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในละครเรื่องต่อไปกันอีกนะครับ



นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

Friday, May 16, 2014

สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง ตอนที่ 1



สวัสดีครับคอละครไทยทุกๆคน ห่างหายกันไปนานกับการดูละครแล้วสะท้อนสุขภาพตามแบบฉบับหมอเช้าตรู่นะครับ ช่วงนี้กระแสพี่ติ๊กฟีเวอร์ ในละคร อย่าลืมฉัน มาแรงจริงๆทำเอาบรรดาพยาบาลสาวน้อยสาวใหญ่รอบตัวผม คลั่งไคล้ในความหล่อของพี่ติ๊ก เพ้อและพูดถึงอยู่ได้ไม่เว้นแต่ละวัน แม้ว่าละครจะอวสานกันไปแล้วเมื่อคืน แต่ผมยังมีประเด็นที่สะกิดต่อมขี้สงสัยในบางฉากของละครที่ว่า นี่คงแบบฉบับละครไทยไปแล้วรึป่าว ที่ต้องเป็นอันเข้าใจว่าถ้านางเอกมีท่าทางหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน วีน เหวี่ยง แล้วเกิดอยากจะกินอะไรเปรี้ยวๆขึ้นมาอย่างผิดสังเกต ทำท่าทางผะอืดผะอม วิ่งเข้าห้องน้ำแล้วอาเจียน โอ้กอ้าก! เอามือกุมท้อง เงยหน้ามองกระจก หลังพิงผนัง ทรุดตัวนั่งลงกับพื้น ทำสีหน้าวิตกกังวล ใช่เลย!! ต้องท้องแน่ๆ นี่ขนาดไม่ได้ดูละครมาก่อนนะครับ ยังเดาทางได้เลยว่าต้องการจะสื่ออะไร เฮ้อ!! เอาตรงๆนะครับ ชีวิตจริงแล้วมันไม่ใช่อย่างที่ละครไทยปลูกฝังให้เราจำภาพว่าถ้าตั้งครรภ์แล้วต้องมีอาการแพ้ท้องเสมอไปนะครับ อย่างนั้นแล้วก็ขอถือโอกาสอธิบายไอ้เจ้าอาการแพ้ท้องนี้เลยแล้วกันนะครับ ว่าจริงๆแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น




อาการแพ้ท้องคืออะไร


อาการแพ้ท้อง หรือ Morning sickness เป็นอาการแสดงออกอย่างอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกรายจะต้องมีอาการแพ้ท้อง บางรายอาจไม่มีอาการใดๆเลยซึ่งก็ไม่ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใด แต่บางรายอาจมีแค่อาการคลื่นไส้เพียงเล็กน้อย หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นอาเจียนตลอด วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะมักเป็นในตอนเช้า รับประทานอะไรไม่ได้เลย น้ำหนักลด จนอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลม ไม่มีเรียวแรงทำงาน รับประทานอาหารไม่อร่อยเพราะรู้สึกขมคอ ลิ้นเฝื่อนไม่มีรสชาติ กลิ่นที่เคยดมได้กลับเหม็นไปหมด หรือถึงขึ้นที่ไม่อยากตั้งครรภ์อีกเลยก็เป็นได้ครับ

แล้วอาการแพ้ท้องเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุของอาการแพ้ท้องที่แท้จริงนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่พบว่ามีปัจจัยสำคัญๆ 2 อย่างที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง นั่นก็คือ


1. ฮอร์โมนที่สร้างจากรกที่ชื่อว่า HCG (Human Chorionic Gonadotropin)  ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งชี้ถึงการตั้งครรภ์ เพราะภายหลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูก และรกมีการพัฒนาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ก็จะเริ่มมีการสร้างฮอร์โมน HCG ขึ้นทันที ซึ่งฮอร์โมน HCGมีผลทำให้ประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นไวขึ้น ประสาทสัมผัสในการรับรสแย่ลง อีกทั้งระบบต่างๆในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากภาวะปกติจึงทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง โดยปกติแล้วในช่วง1สัปดาห์แรกที่ประจำเดือนขาดหายไปเนื่องจากตั้งครรภ์ รกจะเริ่มสร้างฮอร์โมน HCG ในปริมาณต่ำๆ หลังจากนั้นเมื่อรกเจริญเติบโตมากขึ้นตามอายุครรภ์ ก็จะสร้างฮอร์โมน HCGในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีปริมาณสูงสุดช่วงอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ จากนั้นก็จะค่อยๆลดต่ำลงจนอยู่ในระดับคงที่ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์เป็นต้นไป ดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดหญิงตั้งครรภ์จึงมักเริ่มมีอาการแพ้ท้องได้บ่อยในช่วงอายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์และรุนแรงมากที่สุดราวๆ 10-12 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆทุเลาลง และมักหายไปภายหลังจาก 16 สัปดาห์ไปแล้วนั่นเอง แต่ก็มีบางรายที่อาการแพ้ท้องยังคงมีอยู่ตลอดช่วงตั้งครรภ์กันเลยทีเดียว



2. สภาพจิตใจ  ความเครียด ความวิตกกังวล รวมถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ สามารถส่งผลกระทบถึงสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะมีการบีบตัวของลำไส้น้อยอยู่แล้วในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้การลำเลียงอาหารจากกระเพาะไปยังลำไส้ใช้เวลานานกว่าปกติ อาหารจึงค้างอยู่ในกระเพาะดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงมักมีปัญหากรดไหลย้อน ท้องผูกได้บ่อย จึงอาจกระตุ้นให้อาการแพ้ท้องกำเริบได้ง่ายและรุนแรงขึ้นได้


อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้ว่าภาวะจิตใจอาจส่งผลถึงอาการแพ้ท้องอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ได้เป็นการเสแสร้งเพื่อเรียกร้องความสนใจแต่อย่างใด ดังนั้น คุณสามี สมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้างควรต้องทำความเข้าใจ  และคอยช่วยเหลือให้กำลังใจ  ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถช่วยให้อาการแพ้ท้องหายได้เร็วขึ้นครับ




กรณีที่มีอาการแพ้ท้องมากๆอาจเป็นการตั้งครรภ์ที่มีภาวะผิดปกติ

โดยเฉพาะภาวะที่มีความผิดปกติของรกที่สร้างฮอร์โมน HCG ได้มากกว่าปกติ ได้แก่

ครรภ์แฝด เนื่องจากครรภ์แฝดจะมีรกขนาดใหญ่ หรือมีรกมากกว่า 1 จึงทำให้สามารถสร้างฮอร์โมนได้มากกว่าปกติ

ครรภ์ไข่ปลาอุก ชื่ออาจฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไหร่ แต่ถือเป็นเนื้องอกของรกชนิดหนึ่ง โดยที่รกจะมีลักษณะบวมน้ำ มองเห็นเป็นถุงน้ำใสๆขนาดเล็กจำนวนมาก คล้ายเม็ดสาคูหรือไข่ปลาอุก (ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นหน้าคาดตาปลาชนิดนี้เหมือนกันนะครับ แต่เค้าเรียกกันอย่างนี้ตั้งแต่สมัยเรียน ก็เลยเรียกตามๆกันมา) ซึ่งรกที่ผิดปกตินี้เองสามารถสร้างฮอร์โมนได้มากกว่าปกติเป็นสิบๆเท่า


แล้วกรณีที่ไม่มีอาการแพ้ท้องเลยจะถือว่าผิดปกติมั้ย


หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีอาการแพ้ท้องเลย อย่าเพิ่งเข้าใจว่าตัวเองผิดปกตินะครับ เพราะอาการแพ้ท้องแต่ละคนมีอาการไม่เท่ากัน ดังนั้นไม่ได้ถือว่าลูกไม่แข็งแรงหรือรกมีความผิดปกติแต่อย่างใด ถ้าหากไม่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดและไม่มีอาการปวดท้องน้อย ก็ไม่ต้องกังวลใจอะไรครับ


แต่ในกรณีที่ตั้งครรภ์แล้วมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดในช่วง 3 เดือนเเรก หรือมีภาวะแท้งคุกคาม มีการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์กลุ่มนี้หากมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย จะมีโอกาสแท้งได้น้อยกว่าคุณแม่ที่ไม่มีอาการแพ้ท้อง เพราะหากมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย แสดงว่ารกยังสมบูรณ์อยู่จึงสามารถสร้างฮอร์โมน HCG ในปริมาณที่สูงพอสมควร  ซึ่งปกติแล้วฮอร์โมน HCGมีส่วนช่วยประคับประคองให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นหากมีปริมาณที่สูงก็จะช่วยลดโอกาสเกิดการแท้งได้ครับ


ถ้าแพ้ท้องรุนแรง จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยในครรภ์มั้ย


อาการแพ้ท้องแม้ว่าเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากมีอาการรุนแรงมากเกินไป แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของหญิงตั้งครรภ์รวมถึงลูกน้อยในครรภ์อย่างแน่นอน โดยอาการแพ้ท้องที่รุนแรง มีศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Hyperemesis Gravidarum ซึ่งจะมีอาการดังนี้ คือ

1. มีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้นเร็วและเป็นอยู่นานกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติ ซึ่งโดยปกติอาการจะดีขึ้นภายหลังจาก 12-14 สัปดาห์

2. อาการคลื่นไส้อาเจียนตลอด รับประทานอะไรไม่ได้เลย เหม็นกลิ่นอาหารไปเสียทุกอย่าง น้ำก็ดื่มไม่ได้ หรืออาเจียนออกมาจนหมด อาจอาเจียนเอาน้ำย่อยรสเปรี้ยวสีเขียวปนเหลืองออกมาเพราะไม่มีอาหารในกระเพาะเหลือแล้ว ทำให้ระคายคอ อาจมีเลือดปน หรือบางรายเส้นเลือดฝอยที่ตาขาวแตก
 
3. น้ำหนักลดลงจากช่วงก่อนตั้งครรภ์ 3-4 กิโลกรัมขึ้นไป

4. ร่างกายขาดน้ำรุนแรง อ่อนเพลียมาก ริมฝีปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะออกน้อย สีเหลืองเข้ม

5. หน้ามืดเป็นลม

หากมีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้น้ำเกลือชดเชยเกลือแร่และสารอาหารที่จำเป็น ให้ยาระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา อาจถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากอาการต่างๆเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งแม่และลูกได้ครับ ได้แก่

เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ทำให้เลือดข้นหนืดมากขึ้น จึงไหลเวียนไปเลี้ยงที่ไตน้อยลง อาจทำให้ไตทำงานผิดปกติถึงขั้นไตวายได้ และเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงตัวอ่อนลดลงอาจส่งผลให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตช้า หรือหยุดการเจริญเติบโตได้เช่นกัน

ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว อาจตรวจพบว่าความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลม หรือเกิดภาวะช้อคได้ ส่งผลเสียต่อทั้งต่อแม่และลูกครับ

เกิดภาวะร่างกายขาดอาหารรุนแรง ช่วงแพ้ท้องที่รับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายขาดแหล่งพลังงาน จึงดึงเอาแหล่งพลังงานสำรองที่สะสมในร่างกายออกมาใช้ ได้แก่ ไขมันที่มีอยู่ตามร่างกายและตับออกมาใช้ จึงทำให้เกิดการคั่งของของเสียจากการเผาผลาญพลังงานเหล่านี้ออกมาใช้ จึงทำให้เลือดมีสภาพเป็นกรด ออกซิเจนในเลือดลดลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ จากการที่อาเจียนบ่อยๆ ทำให้สูญเสียเกลือแร่ที่อยู่ในน้ำย่อยออกมา จึงอาจส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ใจสั่น เป็นตะคริว เพราะระบบในร่างกายขาดสมดุล ส่งผลเสียต่อทั้งต่อแม่และลูกครับ


เนื่องจากช่วง 3 เดือนแรกเป็นช่วงเวลาสำคัญของลูกน้อยในครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ลูกน้อยมีการพัฒนาและสร้างอวัยวะครบสมบูรณ์ แต่อาการแพ้ท้องก็มักจะเกิดช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน หากสุขภาพของมารดาไม่ดีแล้ว แน่นอนว่าต้องมีผลต่อสุขภาพทารกในครรภ์ไม่มากก็น้อย ดังนั้นคุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษครับ


นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช