Monday, May 19, 2014

สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง [ตอนจบ]



บทความก่อนหน้านี้ สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง ตอนที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้ท้องไปแล้ว บทความนี้ข้อเสนอ วิธีง่ายๆช่วยลดอาการแพ้ท้อง

วิธีง่ายๆช่วยลดอาการแพ้ท้อง

ระหว่างตั้งครรภ์  ฮอร์โมนที่สูงขึ้นมีผลทำให้ระบบทางเดินอาหาร สำไส้เคลื่อนไหวช้าลง  ดังนั้นอาหารที่ย่อยยากจะเหลือค้างในกระเพาะอาหารได้นานกว่าปกติ อาจมีอาการท้องผูกหรืออาการอืดแน่นท้องได้ง่าย  บางทีรับประทานอาหารไปได้พักเดียวก็รู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนออกมาหมด  ผมได้รวบรวมคำแนะนำทั้งจากตำราและประสบการณ์ตรงจากคนไข้ ซึ่งเป็นวิธีการดูแลตัวเองอย่างง่ายๆเพื่อให้พ้นช่วงเวลาที่มีอาการแพ้ท้องนี้ไปให้ได้ยังไงล่ะครับ

เริ่มตั้งแต่หลังตื่นนอน ไม่ควรรีบลุกออกจากเตียง เพราะการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงท่าทางอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลทำให้วิงเวียนและอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ ควรนอนพักสัก 5-10 นาที หลังจากนั้นจึงค่อยๆลุกออกจากเตียง บางท่านแนะนำว่านอนเล่นเคี้ยวขนมปังชิ้นเล็กๆ ก่อนลุกจากที่นอนก็ช่วยลดอาการคลื่นไส้จากภาวะท้องว่างได้ดีไม่น้อยเลยนะครับ

พยายามหาอะไรทานเบาๆ ก่อนนอน เช่น ขนมปังหรือแซนด์วิช จะช่วยป้องกันอาการแพ้ท้องในเช้าวันรุ่งขึ้นได้ เนื่องจากลดโอกาสเกิดท้องว่างซึ่งมักจะกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายครับ

รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกของมัน ของทอด เนื้อสัตว์ใหญ่ เพราะย่อยยากจึงเหลือค้างอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน ทำให้อืดแน่นท้องและกระตุ้นให้คลื่นไส้ได้

ยังไม่ควรรีบบำรุงมากจนเกินไป ควรให้พ้นช่วง 3 เดือนไปก่อนครับ เพราะช่วงนี้ทารกในครรภ์ขนาดเล็กนิดเดียว ยังไม่ต้องการสารอาหารจากมารดามากเท่าใดนัก แนะนำว่ารับประทานเท่าที่รับประทานได้ ไม่ต้องฝืนบำรุงครับ

จิบน้ำหวาน น้ำอัดลมช่วยทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่าได้ครับ เพราะมีน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานงานและสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้พลังงานได้ทันที

น้ำผลไม้ หรือ ผลไม้รสเปรี้ยว ช่วยแก้เลี่ยนได้ ไม่ว่าจะเป็น บ๊วย มะยม มะนาว มะม่วง ได้หมดเลยครับ

ดื่มน้ำขิงอุ่นๆ ดมกลิ่นไอระเหยจะช่วยผ่อนคลาย และบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ไม่เลวเลยครับ

ไม่ควรดื่มน้ำทีละมากๆ หรือดื่มบ่อยๆระหว่างรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้อิ่มเร็ว แน่นท้องและกระตุ้นให้อาเจียนได้ง่าย

น้ำเกลือแร่ ORS ที่เราดื่มๆกันในยามที่ท้องเสีย สามารถช่วยป้องกันภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ จากสูญเสียเกลือแร่จากการอาเจียนบ่อยๆ แนะนำว่าสามารถจิบได้ตลอดทั้งวันครับ

บ้วนปาก แล้วดื่มน้ำอุ่นๆตามหลังอาเจียน เพราะเป็นการช่วยล้างช่องปากและลำคอ ทำให้กลิ่นอาเจียนเบาบางลง ช่วยทำให้ไม่อยากอาเจียนมากขึ้นครับ

ให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ 5-6 มื้อ/วัน ไม่ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อใหญ่ๆ เพราะจะทำให้รู้สึกแน่นท้อง คลื่นไส้ตามมาได้

หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเครื่องเทศกลิ่นฉุน หรืออาหารกลิ่นคาว เช่น แกงกะหรี่ เนื้อปลา แนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกข้าวต้ม  ซึ่งควรเป็นข้าวต้มขาวเปล่า ๆ กับไข่เค็ม  หมูหยอง  จะดีกว่าข้าวต้มปลา  ข้าวต้มหมู  ที่มักมีกลิ่นคาวยิ่งกระตุ้นให้อยากอาเจียน

หลีกเลี่ยงการนอนภายหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ควรเดินย่อยสักพักประมาณครึ่งชั่วโมง เพราะช่วงตั้งครรภ์ หูรูดส่วนบนของกระเพาะอาหารมักคลายตัวลง  อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ง่ายขึ้น  จึงมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อน กระตุ้นให้อาเจียนได้ง่ายขึ้นครับ

รับประทานอาหารปรุงเสร็จใหม่ๆที่ยังอุ่น ๆ จะทำให้รู้สึกว่ามีรสชาติดีกว่าอาหารที่เย็นชืดแล้ว ช่วยให้รับประทานได้มากขึ้น กว่าปกติ

อาหารแห้งๆมีโอกาสกระตุ้นให้อาเจียนได้น้อยกว่าอาหารที่เป็นน้ำ เช่น ขนมจำพวกแครกเกอร์ ขนมปังกรอบแห้งๆ

ยาบำรุงโลหิตหรือธาตุเหล็ก อาจระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้อาการแพ้ท้องอาจแย่ลงได้ ดังนั้นควรรอให้พ้นช่วงแพ้ท้องไปก่อนดีกว่าครับ ส่วนยาบำรุงเลือดโฟลิค สามารถรับประทานไดเพราะไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร

รับประทานวิตามินบี 6 ขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ 2 เม็ด มีส่วนช่วยทำให้อาการแพ้ท้องดีขึ้นครับ

หากมีอาการแพ้ท้องมาก สามารถใช้ยาแก้อาเจียนชื่อ Dramamine ร่วมด้วยได้ครับ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เพราะเป็นยาที่ใช้กันมานาน และยังไม่พบว่ามีผลต่อทารกในครรภ์ แนะนำว่าควรรับประทานยา 2 ชั่วโมงก่อนมีอาการแพ้ท้องเพราะจะได้ไม่อาเจียนเอายาที่รับประทานเข้าไปออกมา ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ซึ่งปกติแล้วคนที่มีอาการแพ้ท้องจะทราบเวลาที่ตัวเองมักมีอาการบ่อยๆอยู่แล้วครับ

พยายามผ่อนคลาย ไม่ควรวิตกกังวลหรือเครียดมากจนเกินไป เพราะความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง อาจนอนฟังเพลงเบาๆ  อ่านหนังสือ จัดดอกไม้เพลิน ๆ ก็ช่วยผ่อนคลายได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

พยายามหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา อย่าทำตัวให้ว่าง เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเรื่องอาเจียนบ้าง

ความรัก ความเข้าใจ และการดูแลเอาใจใส่จากสามี และสมาชิกในครอบครัว ถือเป็นกำลังใจที่ดีที่สามารถประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลาที่แสนจะทรมานนี้ไปได้อย่างราบรื่นได้ครับ

นอกจากจะลองทำตามแนะนำวิธีง่ายๆเบื้องต้นที่ได้แนะนำกันไปแล้ว ก็อย่าลืมเฝ้าสังเกตอาการเพื่อเฝ้าระวังภาวะผิดปกติทางร่างกายด้วยนะครับ โดยเฉพาะ ภาวะร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากเราชดเชยน้ำไม่เพียงพอกับที่ร่างกายสูญเสียไปจากการอาเจียน ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์หากมีอาการแพ้ท้องมาก รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ น้ำหนักลด คุณแม่อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าลูกจะได้รับอันตรายร้ายแรงนะครับ ขอแค่คุณแม่ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำเป็นพอ เพราะทารกในครรภ์ช่วงนี้ยังไม่ได้ต้องการสารอาหารอะไรจากมารดามากเป็นพิเศษ ขอแค่มารดายังคงมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรง ไม่มีภาวะขาดน้ำเท่านี้ก็เพียงพอแล้วครับ รอให้อาการแพ้ท้องดีขึ้นเสียก่อนค่อยเริ่มบำรุงกันใหม่ วิธีการง่ายๆในการสังเกตดูว่าร่างกายขาดน้ำหรือไม่ เช่น สังเกตดูว่าริมฝีปากและลิ้นแห้งหรือไม่ การปัสสาวะเป็นอย่างไร หากปัสสาวะนานๆครั้ง ปัสสาวะออกครั้งละน้อยๆ และมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าน้ำในร่างกายไม่เพียงพอ เราควรจิบน้ำให้บ่อยขึ้นแล้วสังเกตต่อไปว่า อาการต่างๆดีขึ้นหรือไม่ ปัสสาวะออกมากขึ้นและสีจางลงหรือยัง หากรับประทานอะไรไม่ได้เลยหรือถ้าลองจิบน้ำแล้วแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นแนะนำว่าควรไปพบแพทย์จะดีที่สุดครับ เพราะจะได้ให้น้ำเกลือชดเชยน้ำที่สูญเสียไปเพื่อป้องกันภาวะไตทำงานผิดปกติครับ

มาถึงตอนนี้หวังว่าคุณผู้อ่านทุกท่านคงพอเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอาการแพ้ท้องของหญิงตั้งครรภ์ได้มากขึ้น เพราะแม้จะมีผลจากฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุหลัก แต่ความเครียด ความวิตกกังวล และสภาพจิตใจก็มีผลไม่น้อยที่จะทำให้อาการนั้นรุนแรงมากขึ้น หวังว่าวิธีการรับมือกับอาการแพ้ท้องอย่างง่ายๆที่ผมได้แนะนำไป คงจะพอช่วยทำให้คุณแม่ทั้งมือเก่า มือใหม่ รวมทั้งคุณหนูเล็ก ที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ สามารถนำไปปรับใช้และผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างราบรื่น ปลอดภัยทั้งแม่และลูก สุดท้ายคงต้องขอบคุณละครไทยด้วยเช่นกันที่นอกจากจะนำเสนอความบันเทิงอย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังสอดแทรกชีวิตจริงของสังคมลงไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งประเด็นเรื่องของสุขภาพ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในละครเรื่องต่อไปกันอีกนะครับ



นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

No comments:

Post a Comment