Tuesday, May 27, 2014

จดหมายตอบกลับจากคุณกะรัต “ ทำไมไม่ท้องซะที เหมือนคุณหนูเล็กคะ ??? ”



แม้ว่าผมจะเคยช่วยแนะนำคุณกะรัตนับวันตกไข่ไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง “จดหมายถึงคุณกะรัต คาดคะเนวันตกไข่ฉบับหมอเช้าตรู่” ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีทั้งคำแนะนำ ติชม ตลอดจนฝากคำถามกันเข้ามามากมายอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่ละครได้อวสานไปได้ 2 เดือนกว่าๆ คุณกะรัตก็ยังไม่มีข่าวดีเสียที ผิดกับคุณหนูเล็ก ที่คุณเขมชาติ ไม่รู้มีเทคนิคดีๆอะไรถึงได้สำเร็จในครั้งแรกครั้งเดียว จนตอนนี้คุณหนูเล็กมีอาการแพ้ท้อง ซึ่งผมได้ให้คำแนะนำไปในบทความเรื่องล่าสุด เรื่อง “สารพัดวิธีช่วยคุณหนูเล็กรับมืออาการแพ้ท้อง” ตอนที่ 1 และ ตอนจบ


มีหลายท่านสงสัยว่าทั้งๆที่คิดว่าคาดคะเนวันตกไข่ได้แม่นยำและน่าเชื่อถือมากพอสมควรแล้ว เหตุใดถึงไม่สำเร็จเสียที ผมขออธิบายดังนี้นะครับ ว่าวิธีต่างๆที่เราพยายามคาดคะเนวันตกไข่ให้ได้แม่นยำนั้นก็เพื่อที่จะทำให้ไข่และอสุจิมีโอกาสเจอกันมากที่สุด ง่ายๆก็คือ เรานัดเดทให้ไข่กับอสุจิ ส่วนภายหลังจากนั้นเค้าจะผสมกันได้หรือไม่ หรือผสมกันได้แล้วจะฝังตัวได้หรือไม่นั้น เราไม่สามารถทราบได้ และควบคุมไม่ได้ด้วยครับ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติไปแล้ว เราทำอะไรไม่ได้  ซึ่งโอกาสสำเร็จในแต่ละรอบประจำเดือนนั้นจะลดลงตามอายุฝ่ายหญิงที่เพิ่มขึ้นดังนี้ครับ

  • อายุ 20-25 โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 25%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน 4-5 รอบจึงจะสำเร็จ
  • อายุ 25-30 โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 20%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน 5-6 รอบจึงจะสำเร็จ
  • อายุ 30-35 โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 15%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน  9  รอบจึงจะสำเร็จ
  • อายุ > 35  โอกาสสำเร็จต่อรอบ ประมาณ 10%  จึงอาจต้องใช้เวลานาน  1  ปีจึงจะสำเร็จ





ดังนั้นในแต่ละช่วงอายุ หากได้ลองพยายามกันมาเป็นระยะเวลาที่ควรจะสำเร็จได้แล้วแต่ยังไม่สำเร็จ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้หาสาเหตุและรีบหาทางแก้ไข เพราะหากปล่อยไว้นาน ยิ่งทำให้โอกาสมีบุตรยากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อายุมากกว่า 35 ปี แนะนำว่า หากภายใน 6 เดือนยังไม่สำเร็จควรไปพบแพทย์ได้เลยครับไม่ต้องรอจนครบ 1 ปี


อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงนั่นก็คือ ฝ่ายหญิงอาจมีปัญหาท่อนำไข่ตันทั้ง 2 ข้าง เพราะว่าถ้ามีปัญหาดังกล่าวก็ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีธรรมชาติหรือแม้กระทั่งการฉีดน้ำเชื้อ (IUI) ก็ตาม เพราะไข่และอสุจิไม่สามารถมาเจอกันได้ อีกสาเหตุที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือ ฝ่ายชายอาจมีปัญหาน้ำเชื้ออ่อนมากนั่นเอง  ดังนั้นแล้วถ้าลองพยายามกันมาสักระยะ แล้วยังไม่สำเร็จ อย่าได้นิ่งนอนใจไปครับ แนะนำว่าควรรีบปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด


นอกจากนี้ยังมีบางท่านถามถึงวิธีการอื่นๆในการคาดคะเนวันตกไข่เข้ามา ผมจึงขอถือโอกาสรวบรวมข้อสงสัยของหลายๆท่าน และสรุปออกมาเป็นประเด็นสำคัญๆ เพื่ออ่านทำความเข้าใจกันให้มากยิ่งขึ้น ถือว่าบทความฉบับนี้เป็นภาคต่อจากจดหมายถึงคุณกะรัตฉบับแรกแล้วกันนะครับ ถึงวิธีคาดคะเนวันตกไข่ฉบับหมอเช้าตรู่  ( จดหมายถึงคุณกะรัต : คาดคะเนวันไข่ตก ฉบับหมอเช้าตรู่ )



การกำหนดช่วงเวลาตกไข่  เราไม่สามารถใช้วิธีใด วิธีหนึ่ง มากำหนดช่วงเวลาตกไข่ได้ถูกต้องแม่นยำ 100% แต่การใช้หลายๆวิธีร่วมกันจะช่วยทำให้ความน่าเชื่อถือของการคาดคะเนแม่นยำมากยิ่งขึ้นครับ ซึ่งได้แก่

  1. ระยะห่างของรอบประจำเดือนแต่ละรอบ โดยนับจากวันแรกของประจำเดือนรอบปัจจุบัน ไปจนถึงวันแรกของประจำเดือนรอบถัดไป หากได้ข้อมูลประจำเดือนเก่าย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือนจะช่วยทำให้คำนวณได้น่าเชื่อถือมากขึ้นครับ
    โดยวันที่คาดคะเนว่าไข่น่าจะตก = ระยะห่างของรอบประจำเดือนแต่ละรอบ ลบด้วย 14

  2. ลักษณะของมูกที่ปากช่องคลอด (Cervical mucous) ช่วงที่ไข่ใกล้จะตก 2-3 วัน มักจะมีมูกใสๆ เหนียวๆ คล้ายไข่ขาวออกมามากกว่าปกติ แต่ในบางรายก็อาจไม่มีมูกใสๆออกมาให้เห็น หรือมีให้เห็นแต่ไม่ได้มีทุกรอบเดือน ดังนั้นหากมีมูกใสๆก็ถือว่าเป็นตัวช่วยในการคาดคะเนวันตกไข่ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ได้ถือว่าผิดปกติแต่อย่างใดครับ

  3. การใช้ชุดตรวจการตกไข่ ( Ovulation or LH kits) โดยชุดตรวจการตกไข่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาฮอร์โมนชนิดหนึ่งทีมีชื่อว่า ฮอร์โมน  LH (Luteinizing hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า มีหน้าที่ชักนำให้เกิดการตกไข่ โดยปกติแล้วฮอร์โมน LH จะมีปริมาณต่ำมากและอยู่ในระดับคงที่มาตั้งแต่ช่วงวันแรกของการเป็นประจำเดือน และจะเริ่มมีปริมาณสูงขึ้นอย่างฉับพลัน เรียกว่า  LH surge ในช่วงเวลา 24-36 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการตกไข่ หลังจากนั้นก็จะลดระดับลงอย่างรวดเร็ว และคงอยู่ในระดับต่ำๆไปจนถึงการเป็นประจำเดือนรอบถัดไป



    การใช้ชุดตรวจการตกไข่จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาว่า ระดับฮอร์โมน LH สูงขึ้นกว่าระดับปกติหรือยัง เพื่อคาดคะเนวันเวลาที่ไข่น่าจะตก โดยถ้าตรวจพบว่าระดับฮอร์โมนสูงขึ้นแล้ว ไข่ควรจะตกภายใน 24-36 ชั่วโมงต่อมา จึงแนะนำว่า ควรมีเพศสัมพันธ์ภายในวันที่ตรวจได้ผลเป็นบวกเลย และควรมีซ้ำอีกครั้งในอีก 2 วันถัดไป ซึ่งจะตรงกับช่วงเวลาที่ไข่น่าจะตก อีกทั้งการมีเพศสัมพันธ์ วันเว้นวันจะทำให้น้ำเชื้อไม่เจือจางจนเกินไป เหมือนกับการมีเพศสัมพันธ์ทุกวัน จึงช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้มากยิ่งขึ้นครับ

    • สาเหตุที่แนะนำว่า ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาที่ไข่จะตกจริงเล็กน้อยนั้นก็เพราะว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์สูงกว่าการมีเพศสัมพันธ์ภายหลังจากที่ไข่ตกไปแล้ว เพราะตัวอสุจิสามารถมีชีวิตภายในโพรงมดลูกฝ่ายหญิงเพื่อรอการผสมกับไข่ได้ถึง 48 ชั่วโมง แต่ไข่มีชีวิตหลังจากตกออกมาจากรังไข่แล้วเพียง 24 ชั่วโมง ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตกไข่เล็กน้อยจะทำให้ไม่พลาดโอกาสสำคัญที่ตัวอสุจิจะเจอกับไข่ยังไงหล่ะครับ

    • ส่วนประเด็นที่สงสัยกันว่าจะเริ่มตรวจการตกไข่เมื่อไหร่ และ ควรตรวจเวลาไหนดีนั้น ก่อนอื่นคงต้องขอแนะนำว่าควรเริ่มตรวจก่อนช่วงเวลาที่คาดคะเนว่าไข่น่าจะตกประมาณ 2-3 วัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ระยะห่างของรอบประจำเดือนแต่ละรอบ เท่ากับ 32 วัน


      วันที่คาดคะเนว่าไข่น่าจะตก  = ระยะห่างของรอบประจำเดือนแต่ละรอบ ลบด้วย 14

                                                 = 32 ลบด้วย 14 เท่ากับ 18

      ดังนั้นควรเริ่มตรวจการตกไข่ตั้งแต่วันที่ 15-16 ของรอบประจำเดือนครับ

    • การแปลผล

      ถ้าแถบ test ไม่ขึ้นสี หรือขึ้นสีจางกว่า แถบ control ถือว่าเป็น ผลลบ

      ถ้าแถบ test ขึ้นสีเข้มมากกว่า หรือเท่ากับ แถบ control ถือว่าเป็น ผลบวก




    • ส่วนควรตรวจช่วงเวลาไหนนั้น มีคนสงสัยกันเยอะซึ่งคู่มือการใช้ทั่วไปแนะนำว่าควรตรวจในช่วงเวลา 10.00-20.00 น. และแนะนำว่าควรงดดื่มน้ำ ชาหรือกาแฟ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจเพื่อป้องกันภาวะปัสสาวะเจือจางเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิด ผลลบลวง ( False negative หมายความว่า ตรวจได้ผลเป็นลบ ทั้งๆที่ควรจะตรวจได้ผลเป็นบวก แต่เนื่องจากปัสสาวะเจือจางเกินไปเลยทำให้ตรวจไม่พบ) อีกทั้งการเกิด LH surge มักเกิดในช่วงเช้า แต่กว่าฮอร์โมนในกระแสเลือดจะถูกขับออกมาในปัสสาวะนั้นใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4 ชั่วโมง จึงจะสามารถตรวจพบได้ ดังนั้นการตรวจในช่วงเช้าอาจให้ผลเป็นลบได้ ส่วนในกรณีที่ผลตรวจเป็นบวกจากปัสสาวะช่วงเช้านั้นอาจเกิดจากปัสสาวะเข้มข้นมากไปเพราะสะสมมาตลอดทั้งคืนทำให้เกิด ผลบวกลวง (False positive หมายความว่า ตรวจได้ผลเป็นบวก ทั้งๆที่ควรจะตรวจได้ผลเป็นลบ แต่เนื่องจากปัสสาวะเข้มข้นเกินไปเลยทำให้ตรวจพบ)

    • แต่ที่ผมกลับแนะนำว่าควรตรวจจากปัสสาวะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน ขออธิบายเช่นนี้นะครับว่า เนื่องจากฮอร์โมน LH นั้นจะมีช่วงที่ระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและคงอยู่ให้เราตรวจเจอแค่ช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่เราจะพลาดและตรวจไม่พบได้ ดังนั้นจึงพยายามหาช่วงเวลาที่คิดว่าสามารถตรวจแล้วได้ผลเป็นบวกเร็วที่สุด ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้แนะนำคนไข้ให้ตรวจปัสสาวะในช่วงเช้าพบว่ามีโอกาสตรวจได้ผลเป็นบวกได้บ่อยกว่าการตรวจในช่วงเวลาอื่น แม้ว่าโอกาสเกิดผลบวกลวงจะสูงจากที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น แต่หากตรวจยืนยันอีกครั้งในช่วงเย็นก็มักพบว่าให้ผลบวกเช่นกัน จึงสนับสนุนว่าผลตอนช่วงเช้าเป็นผลบวกจริง ทำให้เราไม่พลาดโอกาสในการตรวจเจอช่วงเวลาที่เกิด LH surge ไป แต่หากตรวจช่วงเวลากลางวันถึงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่มีการรับประทานอาหาร และน้ำ อาจทำให้ปัสสาวะเจือจางทำให้การตรวจได้ผลลบลวงเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า

    • ดังนั้นเมื่อเทียบระหว่างผลของการตรวจเจอผลบวกลวง และผลลบลวงแล้ว ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าผลบวกลวงทำให้เราตื่นตัวมากขึ้นที่จะพยายามตรวจซ้ำในช่วงเย็นวันเดียวกัน เพื่อยืนยันผลช่วงเช้าว่าเป็นบวกจริงหรือไม่  ดีกว่าการตรวจช่วงเวลาอื่นที่หากเกิดผลลบลวงขึ้น ทำให้คนไข้รอตรวจอีกครั้งวันต่อมา ซึ่งมีโอกาสทำให้พลาดการตรวจพบ LH surge ได้สูงกว่านั่นเองครับ

    • แต่ใครจะทำตามคำแนะนำของคู่มือก็ไม่ว่ากันครับ เพราะที่ผมคำแนะนำที่ผมได้เขียนไปในบทความนั้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากคนไข้ที่บอกมา ไม่ว่าจะตรวจช่วงเวลาใดขอแค่เป็นช่วงเวลาเดียวกันทุกวันเป็นดีที่สุดครับ แต่หากกังวลว่ากลัวจะพลาด ก็สามารถตรวจได้ทั้งเช้าและเย็น เพื่อตัดปัญหาผลตรวจลวงดังกล่าวข้างต้นก็สามารถทำได้นะครับ แต่อาจจะเปลืองค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีกหน่อยเท่านั้นเอง และแนะนำว่าควรมีเพศสัมพันธ์กันภายในวันที่ตรวจได้ผลบวกเลย และควรมีซ้ำอีกครั้งในอีก 2 วันถัดไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ให้มากยิ่งขึ้นครับ

  4. การบันทึกอุณหภูมิร่างกาย ( BBT : Basal Body Temperature) หลักการมีอยู่ว่าอุณหภูมิ ร่างกายปกติขณะพัก (แนะนำว่าหลังจากตื่นนอน ก่อนลุกจากเตียง) ตั้งแต่ช่วงเป็นประจำเดือนไปจนถึงก่อนช่วงที่ไข่จะตกจะอยู่ในระดับต่ำๆ และจะลดลงเล็กน้อยช่วงที่เกิดการตกไข่ หลังจากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นชัดเจนภายหลังจากที่ไข่ได้ตกไปแล้วเป็นผลจากฮอร์โมนชนิดหนึ่งชื่อโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะพบได้ภายหลังจากที่มีการตกไข่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เป็นผลทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และจะสูงต่อเนื่องเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่ง 1-2 วันก่อนมีประจำเดือนจากนั้นจะลดต่ำลงอีกครั้ง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แต่หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น อุณหภูมิร่างกายก็จะยังคงสูงต่อเนื่องไปได้เรื่อยๆครับ และเมื่อนำข้อมูลอุณหภูมิที่วัดได้ในแต่ละวันมาบันทึกเป็นกราฟ จึงสามารถบอกได้ว่าการตกไข่เกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น BBT จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้คาดคะเนวันตกไข่ในรอบเดือนปัจจุบัน เพราะกว่าอุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นไข่ก็ได้ตกไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดลง เพราะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเวลาที่ไข่จะตกจริงเล็กน้อยนั้นจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าการมีเพศสัมพันธ์ภายหลังจากที่ไข่ตกไปแล้ว จึงแนะนำว่าควรเก็บข้อมูล BBT เช่นนี้สัก 3-4 รอบประจำเดือน จะช่วยทำให้เราพอทราบรูปแบบอุณหภูมิร่างกายในแต่ละรอบเดือนและพอจะคาดคะเนวันตกไข่ในรอบเดือนถัดๆไปได้ และหากใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆข้างต้นก็จะช่วยทำให้เราคาดคะเนวันตกไข่ได้แม่นยำและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นครับ


แต่ที่ผมไม่ได้แนะนำวิธีการตรวจอุณหภูมิไว้ตั้งแต่แรกในบทความเพราะว่า วิธีการวัดอุณหภูมิร่างกายนั้นมีปัจจัยภายนอกรบกวนได้บ่อย ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในการแปลผลได้ค่อนข้างบ่อย เช่น วัดอุณหภูมิผิดวิธี วัดต่างเวลา ลืมวัด วัดภายหลังจากที่ทำกิจวัตรประจำวันซึ่งกิจวัตรที่ต่างกันก็มีผลต่ออุณหภูมิร่างกาย หรือแม้แต่สุขภาพร่างกายก็มีผล เช่น มีไข้ นอนน้อย เป็นต้น อีกทั้ง BBT ยังเป็นวิธีการคาดคะเนวันตกไข่ที่ล่าช้าเพราะกว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นชัดเจนก็เมื่อมีการตกไข่เกิดขึ้นไปแล้ว ดังนั้นอาจทำให้มีเพศสัมพันธ์กันช้าไป โอกาสตั้งครรภ์จึงน้อยลง








ข้อแตกต่างระหว่างการใช้ชุดตรวจการตกไข่ กับ BBT ในการคาดคะเนวันตกไข่ คือ  ชุดตรวจการตกไข่ เป็นตัวช่วยคาดคะเนช่วงเวลาได้ก่อนที่ไข่จะตก โดยหากตรวจได้ผลบวก อีก 24-36 ชั่วโมงต่อมาไข่จะตก แต่ BBT จะให้ข้อมูลเราว่าไข่ได้ตกไปแล้วเพราะอุณหภูมิร่างกายได้สูงขึ้น




  • หากเราคาดคะเนวันตกไข่ได้ถูกต้อง หรือใกล้เคียงจริงๆ หากไม่ตั้งครรภ์ ประจำเดือนจะมาในอีก 14 วันครับ

  • ส่วนช่วงเวลาที่สามารถตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะได้เร็วที่สุด ประมาณ 10 วันหลังจากตกไข่ครับ แต่ถ้าจะให้ชัดเจนผมว่ารอ  14-16 วันจะแน่นอนกว่าครับ ท้องไม่ท้องก็รู้ๆกันไปเลยไม่ต้องมัวสงสัยกันให้กังวลใจครับ

  • ส่วนข้อสงสัยที่ว่าถ้าท้องแล้วจำเป็นต้องมีจะต้องมีอาการคลื่นไส้ เจ็บเต้านม วิงเวียนศีรษะ หรือไม่นั้น ขอตอบว่าไม่จำเป็นครับ บางรายอาจมีอาการชัดเจน  แต่บางรายอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็เป็นได้ครับ ดังนั้นยังไม่ต้องกังวลใจตรงจุดนี้

หวังว่าข้อมูลที่ผมสรุปให้ คงทำให้คุณกะรัต และทุกๆคนเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นนะครับ และหวังว่าจะมีข่าวดีในเร็วๆนี้ ใครที่นำวิธีการนี้ไปใช้แล้วได้ผลก็อย่าลืมส่งข่าวมาบอกกันบ้างนะครับ ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์กันในกลุ่มของผู้ที่กำลังประสบปัญหามีลูกยากเหมือนๆกันครับ





นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

1 comment:

  1. Blackjack, Blackjack, And The Rules of the Best Gambling
    It has got good 순천 출장마사지 and bad reputation, so when I 광주 출장마사지 tried to play for more than six 제주 출장마사지 years in 김제 출장마사지 this world of gambling, I couldn't seem 논산 출장마사지 to keep going for a while

    ReplyDelete