Wednesday, February 26, 2014

สตาฟ ‘สเปิร์ม-เซลล์ไข่-ตัวอ่อน’ เก็บไว้ใช้เมื่อพร้อม มีลูกได้ไม่ต้องกลัวหมดอายุ (Fertility preservation)

1
ในยุคสังคมปัจจุบันหญิงและชายมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ต่างจึงมีโอกาสที่จะเลือกคู่ครองด้วยตัวเองกันมากขึ้น ถือคติที่ว่า“ถ้าหาได้ไม่ดี ยอมที่จะไม่มีเสียดีกว่า” แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่โชคชะตาได้นำพามาเจอกับคนที่ใช่ เมื่อตอนมีอายุมากแล้ว ครั้นเมื่อพร้อมจะมีบุตรเป็นโซ่ทองคล้องใจกลับต้องประสบกับปัญหามีบุตรยาก แท้งบุตร หรือทารกในครรภ์มีความผิดปกติ อันมีสาเหตุมาจากรังไข่ที่เสื่อมสภาพไปมากแล้วทำให้ผลิตไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ผู้หญิงจำนวนมากจึงตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้หญิงจะสงวนรักษาความสมบูรณ์ของรังไข่เก็บเอาไว้ก่อนตอนอายุน้อยๆ และเมื่อพร้อมจะมีบุตรตอนอายุมากขึ้นจะได้ไม่ต้องกังวลว่ารังไข่ที่เสื่อมสภาพจะทำให้มีบุตรยากหรือทารกในครรภ์ผิดปกติ และด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในยุคนี้ที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้ความหวังที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ กลับเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งเราเรียกวิทยาการนี้ว่า  “เทคโนโลยีสงวนรักษาภาวะเจริญพันธุ์ (Fertility preservation)”
แนวความคิดที่จะสงวนรักษาภาวะเจริญพันธุ์นั้น เดิมทีมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม ไม่ให้ประสบกับปัญหาเป็นหมันเนื่องจากรังไข่หรืออัณฑะจะเสื่อมการทำงานภายหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง หลายท่านคงยังไม่ทราบว่าการฉายแสงและยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งนั้น ยาบางตัวมีผลนอกจากจะทำลายเซลล์ที่มีการแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติอย่างเซลล์มะเร็งแล้ว เซลล์ปกติในร่างกายที่มีการแบ่งเซลล์ได้รวดเร็วก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน เช่น เซลล์ผม เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ไข่ หรือตัวอสุจิ เป็นผลให้ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องประสบกับปัญหา ผมร่วง โลหิตจาง เป็นวัยทองก่อนกำหนด กระดูกพรุน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ตลอดจนรุนแรงถึงขั้นเป็นหมันได้ ซึ่งความรุนแรงของผลข้างเคียงเหล่านี้ขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด ขนาดของยา และระยะเวลาที่ใช้รักษา ส่วนการฉายแสงนั้น แม้ว่าจะเกิดผลข้างเคียงเฉพาะที่ในบริเวณที่ฉายแสง แต่หากตำแหน่งร่างกายที่ต้องฉายแสงอยู่ใกล้หรือครอบคลุมบริเวณท้องน้อยหรืออวัยวะเพศก็สามารถส่งผลทำลายเซลล์สืบพันธุ์ทั้งเซลล์ไข่และตัวอสุจิได้เช่นเดียวกัน
โรคมะเร็งในสมัยนี้ตรวจพบในวัยหนุ่มสาวได้บ่อยขึ้น แม้ว่าความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านการรักษาโรคมะเร็งจะก้าวหน้าขึ้นมากและทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตยืนยาว แต่ถ้าหากภายหลังจากการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยกลับต้องเป็นหมัน คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่น้อย ดังนั้นหากมีวิทยาการใดที่สามารถสงวนรักษาภาวะเจริญพันธุ์เอาไว้ก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสงได้ ก็นับเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถมีบุตรได้ภายหลังจากที่หายจากโรคได้ใกล้เคียงกับคนปกติ ดังนั้นแนวทางการสงวนรักษาภาวะเจริญพันธุ์ในคนไข้มะเร็งจึงเริ่มพัฒนามากขึ้นและนำมาปรับใช้ในคนปกติทั่วไปที่ต้องการสงวนรักษาภาวะเจริญพันธุ์ไว้ตอนที่อายุน้อยๆหรือกรณีที่ยังไม่มีคู่ครอง ไม่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา และเมื่อพร้อมก็นำเซลล์สืบพันธุ์ที่เก็บรักษาเอาไว้กลับออกมาใช้ ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยการทำเด็กหลอดแก้วร่วมด้วยในภายหลัง ซึ่งเทคโนโลยีการสงวนรักษาภาวะเจริญพันธุ์นี้สามารถใช้ได้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ซึ่งสามารถสรุปวิธีการคร่าวๆได้ดังนี้



อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการศึกษาและพัฒนาถึงผลสำเร็จของการรักษาแต่ละวิธีมากขึ้น แต่วิธีที่มีการยอมรับถึงประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจก็คือการแช่แข็งน้ำเชื้ออสุจิ แช่แข็งไข่โตเต็มที่ และตัวอ่อน ส่วนวิธีแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่/อัณฑะหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ คงต้องรอผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต นับว่า Fertility preservation เป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการจะมีบุตรในอนาคต หรือแม้กระทั่งผู้หญิงอายุน้อยที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรแต่ต้องการจะเก็บรักษาเซลล์ไข่เอาไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการมีบุตรยากหรือทารกผิดปกติสาเหตุจากรังไข่ที่เสื่อมสภาพตามอายุ ซึ่งวิธีการแต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียและเหมาะสมกับกลุ่มผู้ป่วยแตกต่างกัน หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษาต่อไป



นพ.ปัญญา ศักดิ์สง่าวงษ์
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

No comments:

Post a Comment